เช็ค TESTOSTERONE

         

 

 

 

 

 

 

 

 รวมเรื่องน่ารู้ของฮอร์โมนเพศชาย มีหน้าที่อะไร มีสิ่งไหนที่ต้องระวังบ้าง?

มื่อกล่าวถึงฮอร์โมนเพศชาย หนึ่งในฮอร์โมนที่รู้จักกันดีก็คือ “ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone)” ซึ่งคนส่วนใหญ่มักคิดว่า เป็นฮอร์โมนที่ส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของสมรรถภาพทางเพศ และอารมณ์ความต้องการทางเพศเท่านั้น

แต่รู้หรือไม่ว่า ฮอร์โมนชนิดนี้ยังส่งผลต่อการทำงานส่วนอื่นของร่างกาย และถ้าหากร่างกายมีระดับฮอร์โมนเพศชายน้อยเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าที่คิด

ฮอร์โมนเพศชาย คืออะไร? สร้างจากอะไร?

ฮอร์โมนเพศชายที่สำคัญคือ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ผลิตโดยอัณฑะ (Testis) ซึ่งเป็นอวัยวะเพศของผู้ชาย อยู่ในถุงอัณฑะ (Scrotum) จะมีอยู่ 2 ข้างทั้งฝั่งซ้ายและขวา

นอกจากอัณฑะจะทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศชายแล้ว อัณฑะยังทำหน้าที่ผลิตตัวอสุจิอีกด้วย

โดยกลไกการกระตุ้นให้มีการสร้างระดับฮอร์โมนเพศชายและอสุจิเพิ่มขึ้น จะเริ่มในช่วงที่เด็กผู้ชายเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น หรืออายุประมาณ 12-13 ปี มีรายละเอียดดังนี้

  • สมองส่วนหน้าที่เรียกว่า “ไฮโพทาลามัส (Hypothalamus)” จะผลิต GnRH (Gonadotropin releasing hormone) มากขึ้น
  • GnRH จะไปกระตุ้นให้ต่อมใต้สมองส่วนหน้าหลั่ง LH (Lutieinzing hormone) และกระตุ้นการทำงานของ FSH (Follicle stimulating hormone)
  • FSH จะควบคุมการสร้างอสุจิ ส่วน LH จะกระตุ้นให้เซลล์เลย์ดิก (Leydig cell) ต่อมไร้ท่อที่อยู่ในอัณฑะ ให้สร้างฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ซึ่งเป็นกลุ่มฮอร์โมนเพศชายขึ้นมา
  • หลังจากนั้น แอนโดเจนส่วนใหญ่จะถูกเปลี่ยนให้เป็นฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน โดยการชักนำของ FSH ต่อ LH ที่อยู่บนเซลล์เลย์ดิก

กลไกการกระตุ้นให้หลั่งฮอร์โมนเพศนั้น คล้ายกันทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่จะแตกต่างกันตรงที่ FSH และ LH ในผู้ชายจะหลั่งอย่างสม่ำเสมอ ส่วนในผู้หญิงจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาก่อนและหลังตกไข่

ฮอร์โมนเพศชาย ทำหน้าที่อะไรบ้าง?

หน้าที่สำคัญของฮอร์โมนเพศชาย คือการกระตุ้นให้เด็กชายก้าวเข้าสู่วัยหนุ่ม โดยจะทำให้อวัยวะสืบพันธุ์เพศชายทั้งภายนอกและภายในเจริญเติบโตเต็มที่ องคชาติขยายใหญ่และยาวขึ้น มีขนขึ้นที่อวัยวะเพศ รักแร้ หน้าแข้ง แขน ขา มีลูกกระเดือก ไหล่กว้าง สะโพกแคบ กล้ามเนื้อเจริญเติบโตขึ้น

ผลของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจหลายด้าน เช่น

  • มีความรู้สึกรักใคร่
  • มีเหงื่อออกมากขึ้น และอาจทำให้มีกลิ่นตัว
  • เสียงแหบ หรือเสียงทุ้มขึ้น
  • กระดูกใหญ่ขึ้น ไหล่และหน้าอกกว้างขึ้น
  • ผิวหนังสร้างไขมันมากขึ้น ทำให้มีรูขุมขนใหญ่ขึ้น และบางคนอาจเป็นสิวที่ใบหน้า
  • มีขนที่ใต้วงแขน และหัวเหน่า
  • เส้นผมหนาขึ้น
  • เมื่ออวัยวะเพศมีการแข็งตัว จะสร้างซีเมน (Semen) ขึ้นมาด้วย ส่งผลให้เมื่อมีอารมณ์ทางเพศมากๆ ในระหว่างที่นอนหลับ อาจมีน้ำกามออกมาได้ เรียกอาการนี้ว่า “ฝันเปียก”

นอกจากนี้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนส่วนใหญ่ของฮอร์โมนเพศชาย ยังมีส่วนช่วยในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง เพิ่มปริมาณมวลกล้ามเนื้อ ลดระดับไขมันสะสมในร่างกาย และมีบางส่วนที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการป้องกันโรค

Visitors: 56,404